วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2554


ประเภทของเครือข่ายคอมพิวเตอร์
           เครือข่ายคอมพิวเตอร์ จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของขนาด โดยทั่วไปจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ เครือข่ายบริเวณเฉพาะที่  เครือข่ายบริเวณนครหลวง และเครือข่ายบริเวณกว้าง  ทุกชนิดสามารถใช้งานได้ทั้งแบบมีสายและแบบไร้สาย
           เครือข่ายเฉพาะที่หรือแลน (Local Area Network : LAN) หมายถึง เครือข่ายที่ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงเชื่อมต่อกันภายในอาคารเดียวกันหรือบริเวณที่ใกล้เคียง  ระยะทางในการเชื่อมต่อระหว่างจุดไม่ไกลมาก และมีการจัดระบบเครือข่ายโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น เช่น การเชื่อมต่อภายในโรงเรียน บริษัทหรือมหาวิทยาลัย  มีการเชื่อมต่อเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน  มีการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เช่น เครื่องพิมพ์ 
           ข้อดีของเครือข่ายแบบแลน  คือ ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกันได้และมีความยืดหยุ่นในการเพิ่มอุปกรณ์เข้าไปในเครือข่าย  ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ 4 เครื่อง  สามารถใช้เครื่องพิมพ์เลเซอร์และเครื่องให้บริการไฟล์ร่วมกัน ซึ่งฮาร์ดแวร์เหล่านี้มีราคาแพง  และสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเข้าไปในเครือข่ายแลนได้  เช่น มินิคอมพิวเตอร์ หรือเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์หน่วยความจำสำรอง  นอกจากนี้อาจจะต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า  เกตเวย์ (gateway หรือ network gateway) เพื่อเชิ่อมต่อไปยังเครือข่ายแลนอีกเครือข่ายหนึ่งหรือเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
          
ภาพที่ 1 เครือข่ายบริเวณเพาะที่หรือแลน
            ในขณะที่เครือข่ายแลนมีการใช้งานมากขึ้นในองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ตามบ้านพักอาศัยหรือหอพักก็มีการติดตั้งเครือข่ายแลนเพื่อใช้งานเรียกว่า ระบบเครือข่ายภายในบ้าน (home network) สำหรับการใช้งานทรัพยากรร่วมกัน  เช่น เครื่องพิมพ์ การเชื่อมต่อเครือข่ายภายในบ้านนั้นมีการเชื่อมต่อได้หลายวิธี เช่น เชื่อมต่อโดยใช้สายโทรศัพท์  สายเคเบิล และแบบไร้สาย
             เทคโนโลยีเครือข่ายแลนแบบไร้สาย (WLAN) จะใช้สัญญาณความถี่วิทยุในการส่งข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์กระจายสัญญาณ (access point) โดยทุกการสื่อสารจะผ่านศูนย์กลางเครือข่ายที่เป็นตัวรับสัญญาณไร้สาย (wireless reciever) หรือสถานีรับส่งสัญญาณ (base station)
             เครือข่ายบริเวณนครหลวงหรือแมน (Metropolitan Area Network : MAN) เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าเครือข่ายแลน   มักจะใช้เชื่อมต่อระหว่างอาคารหรือใช้เชื่อมต่อภายในตำบลหรืออำเภอเดียวกัน ดังแสดงในภาพที่ 2
ภาพที่ 2 เครือข่ายบริเวณนครหลวงหรือแมน
             เครือข่ายบริเวณกว้างหรือเครือข่ายแวน (Wide Area Network : WAN) เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีการเชื่อมต่อครอบคลุมทั่วประเทศหรือทั่วโลก  โดยช่องทางสื่อสารอาจจะเป็นสายเคเบิลระหว่างประเทศ  ไมโครเวฟ หรือดาวเทียม เพื่อรับส่งข้อมูลไปยังผู้ใช้ที่อยู่ไกล ตัวอย่างเช่น  จากกรุงเทพไปยังจังหวัดต่างๆ ในแต่ละภาค (ดังภาพที่ 3) หรือการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ดังนั้นเครือข่ายแวนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดก็คือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่สามารถเชื่อมโยงเครื่องคอมพิวเตอร์ถึงกันทั่วโลก
             
ภาพที่ 3 เครือข่ายบริเวณกว้างหรือแวน
             ความแตกต่างระหว่างเครือข่ายแลน  แมน  และแวน คือระยะทางในการเชื่อมต่อ และลักษณะในการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่แตกต่างกัน  เช่น ไมโครคอมพิวเตอร์  มินิคอมพิวเตอร์  เมนเฟรม และอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ
อินทราเน็ต (Intranet) หรือเครือข่ายส่วนบุคคล

ตรงกันข้ามกับอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ตเป็นเครือข่ายส่วนบุคคลที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เช่น เว็บ, อีเมล, FTP เป็นต้น อินทราเน็ตใช้โปรโตคอล TCP/IP สำหรับการรับส่งข้อมูลเช่นเดียวกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งโปรโตคอลนี้สามารถใช้ได้กับฮาร์ดแวร์หลายประเภท และสายสัญญาณหลายประเภท ฮาร์ดแวร์ที่ใช้สร้างเครือข่ายไม่ใช่ปัจจัยหลักของอินทราเน็ต แต่เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำให้อินทราเน็ตทำงานได้ อินทราเน็ตเป็นเครือข่ายที่องค์กรสร้างขึ้นสำหรับให้พนักงานขององค์กรใช้เท่านั้น การแชร์ข้อมูลจะอยู่เฉพาะในอินทราเน็ตเท่านั้น หรือถ้ามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับโลกภายนอกหรืออินเทอร์เน็ต องค์กรนั้นสามารถที่จะกำหนดนโยบายได้ ในขณะที่การแชร์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตนั้นยังไม่มีองค์กรใดที่สามารถควบคุมการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ เมื่อเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ต พนักงานบริษัทของบริษัทสามารถติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกเพื่อการค้นหาข้อมูลหรือทำธุรกิจต่าง ๆ การใช้โปรโตคอล TCP/IP ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าใช้เครือข่ายจากที่ห่างไกลได้ (Remote Access) เช่น จากที่บ้าน หรือในเวลาที่ต้องเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ การเชื่อมต่อเข้ากับอินทราเน็ต โดยการใช้โมเด็มและสายโทรศัพท์ ก็เหมือนกับการเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ต แต่แตกต่างกันที่เป็นการเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายส่วนบุคคลแทนที่จะเป็นเครือข่ายสาธารณะอย่างเช่นอินเทอร์เน็ต การเชื่อมต่อกันได้ระหว่างอินทราเน็ตกับอินเทอร์เน็ตถือเป็นประโยชน์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง
ระบบการรักษาความปลอดภัยเป็นสิ่งที่แยกอินทราเน็ตออกจากอินเทอร์เน็ต เครือข่ายอินทราเน็ตขององค์กรจะถูกปกป้องโดยไฟร์วอลล์ (Firewall) ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่กรองข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกันระหว่างอินทราเน็ตและอินเทอร์เน็ตเมื่อทั้งสองระบบมีการเชื่อมต่อกัน ดังนั้นองค์กรสามารถกำหนดนโยบายเพื่อควบคุมการเข้าใช้งานอินทราเน็ตได้
อินทราเน็ตสามารถสนองความต้องการของผู้ใช้ในองค์กรได้หลายอย่าง ความง่ายในการตีพิมพ์บนเว็บทำให้เป็นที่นิยมในการประกาศข่าวสารขององค์กร เช่น ข่าวภายในองค์กร กฎ ระเบียบ และมาตรฐาน การปฏิบัติงานต่าง ๆ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงฐานข้อมูลขององค์กรก็ง่ายเช่นกัน ผู้ใช้สามารถทำงานร่วมกันได้ง่าย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เอ็กส์ทราเน็ต (Extranet) หรือเครือข่ายร่วม

เอ็กส์ทราเน็ต (Extranet) เป็นเครือข่ายกึ่งอินเทอร์เน็ตกึ่งอินทราเน็ต กล่าวคือ เอ็กส์ทราเน็ตคือเครือข่ายที่เชื่อมต่อระหว่างอินทราเน็ตของสององค์กร ดังนั้นจะมีบางส่วนของเครือข่ายที่เป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างสององค์กรหรือบริษัท การสร้างอินทราเน็ตจะไม่จำกัดด้วยเทคโนโลยี แต่จะยากตรงนโยบายที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ทั้งสององค์กรจะต้องตกลงกัน เช่น องค์กรหนึ่งอาจจะอนุญาตให้ผู้ใช้ของอีกองค์กรหนึ่งล็อกอินเข้าระบบอินทราเน็ตของตัวเองหรือไม่ เป็นต้น การสร้างเอ็กส์ทราเน็ตจะเน้นที่ระบบการรักษาความปลอดภัยข้อมูล รวมถึงการติดตั้งไฟร์วอลล์หรือระหว่างอินทราเน็ตและการเข้ารหัสข้อมูลและสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ นโยบายการรักษาความปลอดภัยข้อมูลและการบังคับใช้